Skip to content
OMEGA constellation deville seamaster speedmaster specialities
ย้อนกลับ

ออกเผชิญโลกกว้าง

นำมาจาก OMEGA Lifetime - The Ocean Edition

Volvo Ocean Race ได้รับการยอมรับมาอย่างยาวนานว่าเป็นหนึ่งในความท้าทายที่ยากที่สุดในการแข่งประเภททีมระดับมืออาชีพ ซึ่งต้องแข่งตามเส้นทางบนมหาสมุทรรอบโลกที่มีระยะทางรวม 45,000 ไมล์ทะเล และใช้เวลาถึง 8 เดือน ในการแข่งขันปี 2017-18 ซึ่งเป็นการแข่งขันรอบที่ 13 ของการแข่งขันที่มีมายาวนานถึง 45 ปีนี้ จะเป็นการแข่งขันที่ยากและดุเดือดที่สุดในประวัติศาสตร์การแข่งขัน ผลแพ้ชนะยังไม่สามารถตัดสินได้จนกระทั่งในนาทีสุดท้ายของการแข่งขันสนามสุดท้ายที่โกเธนเบิร์ก สวีเดน ไปยังกรุงเฮกของเนเธอร์แลนด์

ความหลงใหลตั้งแต่ปี 1973

การแข่งขันครั้งแรกเริ่มต้นขึ้นในปี 1973 ในชื่อ The Whitbread Round the World Race ก่อนที่ Volvo Group และ Volvo Car Group จะเข้ามาร่วมบริหารในปี 2001 รายการ Volvo Ocean Race ในปัจจุบันนั้นเป็นการแข่งขันมาราธอนที่มีระยะทาง 45,000 ไมล์ทะเล โดยใช้ระยะเวลา 8 เดือนตลอดการแข่งในสี่มหาสมุทร และแวะพักที่เมืองใหญ่ทั้ง 12 เมืองใน 6 ทวีป ซึ่งนับตั้งแต่การแข่งขันครั้งแรกในปี 1973 การแข่งขันนี้ก็สามารถดึงดูดนักเดินเรือที่เก่งที่สุดในโลกหลายคนให้เข้าสมัครได้

“ความดึงดูดใจในช่วงแรกได้กลายมาเป็นความหลงใหลอย่างรวดเร็ว” นัต โฟรสตาด (Knut Frostad) ชาวนอร์เวย์ ซึ่งเป็นผู้เข้าร่วมการแข่งขัน Volvo Ocean Races ในฐานะกะลาสีและนักแล่นเรือ ก่อนที่จะเข้ารับตำแหน่ง CEO ของการแข่งขัน 3 ครั้งระหว่างปี 2008 ถึง 2015 ได้กล่าวไว้

“กะลาสีระดับมืออาชีพที่มีฝีมือทุกคนล้วนรู้ดีว่า พวกเขาต้องลงแข่งใน Volvo Ocean Race ณ จุดๆ หนึ่งในอาชีพของพวกเขา” โฟรสตาด (Frostad) กล่าว

“จะมีช่วงเวลาที่คุณรู้สึกเกลียดกีฬานี้ และสงสัยว่าคุณมาทำอะไร ณ ใจกลางมหาสมุทร ห่างจากบ้าน และทุกสิ่งที่คุณรัก และบ่นออกมาว่าคุณจะไม่มีวันกลับมาแข่งอีก แต่เมื่อการแข่งขันจบลง คุณจะเริ่มคิดถึงการแข่งขัน และรู้ตัวว่าคุณจะกลับมาลงสนามอีกครั้ง”

รพหว่างการล่องเรือออกนอกชายฝั่งโดยไม่หยุดพักเป็นระยะเวลาครั้งละสามสัปดาห์นั้น เหล่ากะลาสีต้องผ่านส่วนของมหาสมุทรที่ห่างไกลที่สุดระหว่างที่แข่งล่องเรือไปรอบโลก

ตลอดเส้นทางนั้น พวกเขาจะต้องเผชิญกับสภาพอากาศสุดหฤโหด ตั้งแต่ความร้อนระอุ ทะเลที่นิ่งสงบ และพายุพร้อมคลื่นลมแรงในบริเวณเส้นศูนย์สูตร ไปจนถึงอุณหภูมิเยือกแข็ง และพายุโหมกระหน่ำในส่วนลึกของมหาสมุทรแอนตาร์กติก แม้จะต้องแข่งขันกันตลอดทั้งวันทั้งคืนท่ามกลางมหาสมุทรอันกว้างใหญ่แล้ว บ่อยครั้งที่ทีมต่างๆ มักจะช่วงชิงชัยชนะกันอย่างฉิวเฉียดโดยมีเวลาห่างกันเพียงไม่กี่นาทีเท่านั้น นี่ยังเป็นเครื่องพิสูจน์ถึงประสิทธิภาพของนโยบายการออกแบบการแข่งขันที่จะช่วยให้มั่นใจได้ว่าเรือ Volvo Ocean 65 ทุกลำจะเหมือนกันทุกประการ และตัดสินกันที่ทักษะ และความเป็นมืออาชีพของลูกทีมที่เข้าแข่งขัน

หมู่เรือที่แข่งขันกันอย่างดุเดือดที่สุด

เหล่ากองเชียร์ที่อัดแน่นอยู่เต็มพื้นที่จัดงานแข่งขันในอาลีคานเต้ ประเทศสเปน เมื่อวันที่ 22 ตุลาคมนั้น ต่างก็รู้สึกตื่นเต้นอย่างเห็นได้ชัดที่จะได้รับชมรอบแรกของการแข่งขันแล่นเรือรอบโลกจาก 11 รอบ ซึ่งเป็นรอบการแข่งขันด้านความเร็วเพื่อตรงไปยังเมืองลิสบอน ประเทศโปรตุเกส

ลูกเรือนานาชาติทั้งเจ็ดทีมที่มาเข้าร่วม นั้นเป็นตัวแทนของหนึ่งในเหล่ากะลาสีที่แข็งแกร่งที่สุดของการแข่งขันในรอบหลายปี ซึ่งรวมถึงแชมป์โลกกับนักกีฬาโอลิมปิกมากมาย และนักแล่นเรือคนสำคัญหลายคนจากการแข่งขัน America's Cup ครั้งที่ 35 นักแล่นเรือทั้งสี่ - โบวี่ เบคคิ่ง (Bouwe Bekking) สัญชาติดัตช์จาก Team Brunel, ชาร์ลส์ คอเดรเลียร์ (Charles Caudrelier) สัญชาติฝรั่งเศสจาก Dongfeng Race Team, ชาร์ลี เอ็นไรท์ (Charlie Enright) สัญชาติอเมริกันจาก Vestas 11th Hour Racing และซาบี เฟอร์นันเดซ (Xabi Fernández) สัญชาติสเปนจาก Mapfre ล้วนเคยแข่งขันในรอบก่อนหน้าในปี 2015-16

ซึ่งในขณะเดียวกัน ดี แคฟฟารี Dee Caffari หญิงสาวชาวอังกฤษผู้รักเรือยอชต์ที่เป็นผู้นำของ Turn the Tide on Plastic ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากองค์การสหประชาชาติ, ไซเมียน เทนพอนต์ (Simeon Tienpont) สัญชาติดัตช์จากทีม AkzoNobel และเดวิด วิทท์ (David Witt) สัญชาติออสเตรเลียจาก Sun Hung Kai Scallywag ของฮ่องกงก็ล้วนเป็นนักแล่นเรือที่เข้าร่วม Volvo Ocean Race เป็นครั้งแรกทั้งสิ้น ยังมีบรรดาผู้เข้าแข่งขัน Volvo Ocean Race มาแล้วหลายครั้งอยู่ในหมู่เรือนี้ด้วย เช่น ตำนานของนักแข่งเรือในมหาสมุทรหน้าเก่าอย่าง คริส นิโคลสัน (Chris Nicholson) และแอนดรูว์ เคป (Andrew Cape) สัญชาติออสเตรเลีย, สตู บันนาไทน์ (Stu Bannatyne) และดาริล วิสแลง (Daryl Wislang) สัญชาตินิวซีแลนด์ รวมถึงร็อบ กรีนฮาล (Rob Greenhalgh) และจูลส์ ซอลเตอร์ (Jules Salter) สัญชาติอังกฤษ

ทั้งนี้ยังมีตัวแทนของกะลาสีรุ่นใหม่ที่มากพรสวรรค์และมุ่งมั่นสร้างชื่อของตนในใน Volvo Ocean Race เช่น ปีเตอร์ เบอร์ลิง (Peter Burling) และแบลร์ ทู้ค (Blair Tuke) เจ้าของเหรียญเงินและเหรียญทองโอลิมปิก และ Friend of OMEGA ที่เพิ่งคว้าแชมป์ America’s Cup ร่วมกับทีม Emirates Team New Zealand มาอย่างสดๆ ร้อนๆ

นอกจากนี้ยังมีคนที่เข้าร่วมการแข่งขันรอบโลกครั้งแรกอย่าง ทามาร่า เอเชโกเยน (Támara Echegoyen) นักกีฬาเหรียญทองโอลิมปิกจากสเปน และมาร์ทีน เกรล (Martine Grael) ชาวบราซิล ลูกสาวของทอร์เบน เกรล (Torben Grael) นักแล่นเรือที่ชนะการแข่งขัน Volvo Ocean Race ปี 2008-09

การแข่งขันที่เชือดเฉือนที่สุด

การแข่งขันในรอบก่อนหน้าเมื่อปี 2015-16 นั้นเต็มไปด้วยความตื่นเต้น – นับเป็นครั้งแรกที่จัดการแข่งขันขึ้นโดยใช้เรือยอชต์ที่เหมือนกันแทนการใช้เรือที่ได้รับการออกแบบและสร้างขึ้นเองโดยแต่ละทีม แต่ความเข้มข้นของการแข่งขันนั้นได้ยกระดับขึ้นไปอีกหลายเท่าในการแข่งขันปี 2017-18 หมู่เรือจะเกาะกลุ่มแล่นเรือแข่งกันไปทั่วมหาสมุทรเป็นระยะทางทอดยาวหลายพันไมล์โดยไม่คลาดกันเลย ทั้งทางสายตาหรือทางการติดตามระบบอิเล็กทรอนิกส์ AIS

โลกของการแข่งเรือยอชต์ไม่เคยพบเห็นการแข่งขันที่ดุเดือดเช่นนี้มาก่อน ทั้งในช่องแคบไปจนถึงท้องทะเลเปิดนับหลายพันไมล์ และบางครั้งจากซีกโลกหนึ่งไปยังอีกซีกโลกหนึ่ง ซึ่งต้องมาเชือดเฉือนกันที่ชนิดหายใจรดต้นคอ เมื่อหมู่เรือ 7 ลำล่าสุดได้ออกเดินทางไปรอบโลกจากสเปนในเดือนตุลาคม 2017 หลายคนเชื่อว่าการต่อสู้เพื่อชิงถ้วยรางวัล Volvo Ocean Race จะเป็นการต่อสู้ระหว่างเรือสีแดงสองลำของ Mapfre และ Dongfeng Race Team

ลูกเรือของทั้งสองลำได้รับการฝึกฝน และปรับจูนเรือร่วมกันมาเป็นเวลาหลายเดือนก่อนที่จะเริ่มการแข่งขัน และแต่ละทีมล้วนประกอบด้วยเหล่าลูกเรือชั้นนำ ซึ่งเป็นที่น่าอิจฉาของทีมอื่นเป็นอย่างยิ่ง Mapfre และ Dongfeng ก้าวขึ้นสู่อันดับต้นๆ ในการจัดอันดับอย่างรวดเร็วในการแข่งขัน 3 รอบแรก ในขณะที่ทั้งสองทีมผลัดกันนำผลัดกันตาม

ในวันที่ 2 มกราคม 2018 เมื่อหมู่เรือเดินทางออกจากเมลเบิร์น ออสเตรเลีย เพื่อมุ่งหน้าสู่ฮ่องกง ประเทศจีน มีเพียง Vestas 11th Hour Racing เท่านั้นที่ดูเหมือนว่าจะสามารถรับมือกับความท้าทายจากสเปนและจีนได้อย่างน่าชม อย่างไรก็ตาม ระหว่างที่กำลังชิงที่สองกับ Dongfeng ในคืนสุดท้ายของรอบการแข่งขันที่ยาวนานเกือบ 3 สัปดาห์ เรือที่ติดธงเดนมาร์ก/อเมริกันลำดังกล่าวก็ชนเข้ากับเรือพาณิชย์เอกชนลำหนึ่ง ซึ่งอยู่ห่างจากท่าเรือฮ่องกงราว 30 ไมล์ทะเล แรงกระแทกนั้นทำให้เรือของเอกชนจมลง และทำให้เรือยอชต์ Vestas 11th Hour Racing ได้รับความเสียหายอย่างหนัก ไม่มีลูกเรือที่เข้าแข่งขันคนใดได้รับบาดเจ็บจากการชน แต่หนึ่งในลูกเรือของเรืออีกลำได้รับบาดเจ็บและถูกนำส่งโรงพยาบาลโดยเฮลิคอปเตอร์ และเสียชีวิตจากพิษบาดแผลในเวลาต่อมา อุบัติเหตุดังกล่าวทำให้เหล่าลูกเรือ Vestas 11th Hour Racing เสียขวัญ และสร้างความตกใจให้กับชุมชน Volvo Ocean Race ทั้งหมด

ทีมได้ถอนตัวจากรอบที่ 5 (เส้นทางที่ไม่ใช่การแข่งขันเพื่อเดินทางไปยังกวางโจวในจีนแผ่นดินใหญ่) และรอบที่ 6 (จากฮ่องกงไปยังออกแลนด์ นิวซีแลนด์) โดยเลือกที่จะขนเรือยอชต์ที่ได้รับความเสียหายอย่างหนักของพวกเขาไปซ่อมแซมที่ออกแลนด์ -- ซึ่งสำหรับการจัดอันดับโดยรวมนั้น Mapfre ได้กลับมาชิงชัยในรอบที่ 6 จากฮ่องกงไปยังออกแลนด์ และเข้าเส้นชัยเป็นอันดับ 3 ซึ่งนำคู่แข่ง Dongfeng อยู่หนึ่งอันดับ หลังขับเคี่ยงเส้นทางเดินเรือที่แสนจะซับซ้อนจนทำให้ผู้นำทั้งสองเหนื่อยล้าอยู่รั้งท้ายกองเรือโดยส่วนใหญ่อยู่นาน

Brunel เข้าร่วมการแข่งขัน

สนามที่น่ากลัวที่สุดของการแข่งขัน Volvo Ocean Race นั้นมักจะเป็นรอบที่ต้องแข่งผ่านมหาสมุทรแอนตาร์กติก และรอบเคปฮอร์นอันโด่งดัง ซึ่งเป็นรอบที่เหล่าลูกเรือ - ทั้งที่มีประสบการณ์และมือใหม่ - ล้วนคาดหวังและหวาดกลัวพอๆ กัน

ในการแข่งขันปี 2017-18 รอบที่ 7 จากออกแลนด์ไปยังอิตาจาอิในบราซิลได้กลายเป็นช่วงเวลาที่น่าจดจำ จากหลายสาเหตุ รวมถึงสภาพอากาศที่ย่ำแย่และท้าทายที่สุดเท่าที่นักแข่งเคยเผชิญมาในรอบหลายปี และยังชวนให้นึกถึงการล่องเรือที่น่าจดจำจาก Team Brunel ของโบวี่ เบคคิ่ง (Bouwe Bekking) ที่ชิงชัยเหนือทุกคนพร้อมกวาดคะแนนสูงสุดหลังจากแล่นนำรอบเคปฮอร์น และเป็นทีมแรกที่เดินทางไปถึงอิตาจาอิ

แต่โดยหลักๆ แล้ว การแข่งขันครั้งนี้เป็นที่จดจำจากการเสียชีวิตอันน่าเศร้าของจอห์น ฟิชเชอร์ (John Fisher) ลูกเรือชาวอังกฤษ ที่สูญหายไปจากเรือ Sun Hung Kai Scallywag ของทีมฮ่องกง ในระหว่างที่เผชิญกับพายุอันโหดร้ายระหว่างทางไปยังเคปฮอร์น

ซึ่งแม้ว่าลูกเรือจะใช้เวลาค้นหาเขาเป็นเวลานานหลายชั่วโมง แต่ก็ยังไม่พบฟิชเชอร์ ทีมได้ถอนตัวจากการแข่งขันในรอบดังกล่าว แต่กลับมาแข่งใหม่อีกครั้งที่อิตาจาอิ พร้อมกับให้คำมั่นสัญญาว่าจะพิชิตเส้นทางรอบโลกให้ได้เพื่อรำลึกถึงมิตรสหายที่หายสาบสูญ ซึ่งสละชีวิตให้กับการเติมเต็มความฝันอันยาวนานของเขาในการร่วมแข่งขันใน Volvo Ocean Race ผลงานอันน่าทึ่งของ Team Brunel ในรอบที่ 7 ได้ทำให้ธงดัตช์พุ่งทะยานขึ้นสู่อันดับสามในการจัดอันดับโดยรวมในการแข่งขันสี่รอบ และยังมีคะแนนอีก 30 เปอร์เซ็นต์รอให้คว้า นับเป็นการพลิกกลับมาชิงชัยอย่างน่าทึ่งจากทีมที่ก่อนหน้านี้ดูไม่มีแววจะได้มายืนอยู่ที่แท่นรับรางวัลเลย จากคำบอกเล่าของปีเตอร์ เบอร์ลิง (Peter Burling) นายท้ายเรือผู้เคยชนะ America’s Cup ที่ได้เข้าร่วมในการแข่งขัน Volvo Ocean Race ครั้งแรกรวมกับ Team Brunel การพลิกกลับขึ้นมาชิงชัยนั้นเกิดขึ้นหลังจากการประชุมทีมแบบเปิดอกพูดคุยกันที่ออกแลนด์ซึ่งพวกเขาเข้าเส้นชัยเป็นอันดับสุดท้าย

“ในรอบการแข่งขันไปยังออกแลนด์นั้น เราเริ่มต้นได้ดี แต่กลับไปถึงเป็นอันดับสุดท้าย” เบอร์ลิงกล่าว “ณ จุดนั้น เราจำเป็นต้องสำรวจตัวเราเองอย่างหนัก และเราเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี และเจอว่าจะไปต่อได้อย่างไร เราตระหนักได้ว่าเราจำเป็นต้องร่วมมือเป็นทีมเดียวกัน และกำหนดวิธีการล่องเรือที่ดีที่สุดสำหรับพวกเราเอง ซึ่งไม่เหมือนกับวิธีการของคนอื่นๆ”

ชัยชนะรอบที่ 7 ได้ทำให้ Team Brunel ทำคะแนนได้อย่างน่าทึ่งจนถึงสามสนามถัดไปของการแข่งขัน โดยเรือสีเหลืองลำนี้ได้เริ่มจากอันดับสองในรอบที่ 8 จากบราซิลไปยังนิวพอร์ต โรดไอแลนด์ และครองชัยชนะอย่างต่อเนื่องในรอบที่ 9 บนเส้นทางข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกไปยังคาร์ดิฟฟ์ เวลส์ และรอบที่ 10 จากคาร์ดิฟฟ์ไปจนถึงโกเธนเบิร์ก สวีเดน

นี่คือผลงานที่ยอดเยี่ยมอย่างแท้จริง ซึ่งทำให้มีทีมที่เสมอกันทั้งสามทีมระหว่าง Mapfre, Dongfeng และ Brunel จะต้องชิงชนะเลิศกันในรอบการแข่งที่เหลือเพียงรอบเดียวเท่านั้น – การแข่งความเร็วด้วยระยะทาง 1,000 ไมล์ทะเลจากโกเธนเบิร์กไปที่เฮก ในเนเธอร์แลนด์ สถานการณ์นี้ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์ของ Volvo Ocean Race และยังหมายความว่าทีมใดก็ตามจากสามทีมนี้ที่เข้าเส้นชัยที่เฮกได้ก่อนจะได้รับตำแหน่งแชมป์ Volvo Ocean Race สำหรับปี 2017-18 โดยไม่คำนึงถึงอันดับของพวกเขาในจากการแข่งก่อนหน้า

ตัดสินกันในวินาทีสุดท้าย

ไม่มีนักเขียนบทฮอลลีวูดคนใดสามารถวางฉากตอนจบได้ดีไปกว่าเกมกีฬาสุดขับเคี่ยวในชีวิตจริงของรอบที่ 11

แต่ทว่า Team Brunel ดูเหมือนจะสูญเสียฟอร์มอันเจิดจรัสไปบ้างในช่วงสองวันแรกของรอบการแข่งขัน ในขณะที่พวกเขาพยายามดิ้นรนกลับมาอยู่ในอันดับที่สี่ และปล่อยให้ลูกเรือของ Dongfeng และ Mapfre ช่วงชิงอันดับหนึ่งกันโดยทิ้งห่างกันไม่ถึงครึ่งไมล์ อย่างไรก็ตาม Team Brunel ได้ฝ่าฟันกลับมาชิงชัยได้อีกครั้งในคืนสุดท้ายหลังจากใช้เส้นทางนอกชายฝั่งทะเลเหนือเป็นส่วนใหญ่เพื่อมุ่งไปยังเส้นชัยในกรุงเฮก พร้อมกับแซงขึ้นนำคู่แข่งทั้ง Dongfeng และ Mapfre ไป

Mapfre โดนบีบให้เลือกระหว่างเส้นทางเลียบชายฝั่งหรือนอกชายฝั่งสำหรับคืนสุดท้ายในทะเล และ Mapfre ก็เลือกที่จะใช้เส้นทางร่วมกับ Brunel ที่นอกชายฝั่ง ปล่อยให้ลูกเรือของ Dongfeng ใช้เส้นทางใกล้ชายฝั่งเพียงลำพังด้วยความกล้าหาญโดยมีแค่ความเชื่อมั่นในตัวลูกเรือ

เมื่อดวงตะวันขึ้นเหนือกรุงเฮกในวันสุดท้าย ก็ดูเหมือนว่า Dongfeng ได้พลาดโอกาสของพวกเขาไปซะแล้ว และความสนใจได้มุ่งไปที่ Mapfre และ Brunel ขณะที่คู่แข่งขันชิงชัยกันผ่านชั่วโมงสุดท้ายของรอบการแข่งขัน โดยทิ้งห่างกันเพียงช่วงลำเรือเท่านั้น แต่ทันใดนั้น Dongfeng ก็กลับเข้ามาร่วมชิงชัยอีกครั้ง ในที่สุดเส้นทางใกล้ชายฝั่งของพวกเขาก็ได้สร้างผลลัพธ์อันน่าทึ่งด้วยลมที่แรงกว่า และองศาที่ดีว่าในการรับมือกับกระแสน้ำที่มีความเร็วหลายนอตที่พัดเรือห่างออกจากเส้นชัย Dongfeng กำลังแล่นเรือใกล้เข้ามาอย่างรวดเร็ว แต่พวกเขาจะสามารถไปถึงจุดเลี้ยวสุดท้ายก่อน Mapfre และ Brunel ได้หรือไม่

ฝูงชนในกรุงเฮก และเหล่าแฟนๆ กีฬาล่องเรือหลายแสนคนทั่วโลกที่กำลังรับชมการแข่งขันทางออนไลน์ต่างพากันกลั้นหายใจ เพราะภายในเวลาไม่กี่นาทีก่อนที่จะถึงเส้นชัย Dongfeng Race Team ได้พุ่งทะยานผ่านหัวเรือของ Mapfre และ Team Brunel เพื่อชิงอันดับหนึ่งของรอบ และได้รับชัยชนะไปครอง

นี่เป็นช่วงเวลาที่สะเทือนอารมณ์อย่างยิ่งสำหรับชาร์ลส์ คอลเดรเลีย (Charles Caudrelier) นักแล่นเรือสัญชาติฝรั่งเศสของ Dongfeng ที่เคยชนะการแข่งขันในปี 2011-12 ในฐานะสมาชิกลูกเรือบนทีมล่องเรือ Groupama ของฟรังค์ ก็องมาส (Franck Cammas) “เราไว้วางใจกันเสมอ ไม่มีใครคิดว่าเราจะชนะในรอบสุดท้ายนี้ แต่ผมรู้สึกได้ว่าเราจะชนะ” คอลเดรเลีย กล่าว “ผมบอกว่า ‘เราแพ้ไม่ได้ เราแพ้ไม่ได้ เราแพ้ไม่ได้’ ...และเราก็ชนะ!”

ถึงแม้ว่าแอมบาสเดอร์ของ OMEGA ปีเตอร์ เบอร์ลิง (Peter Burling) และแบลร์ ทู้ค (Blair Tuke) ต่างเข้าแข่งขันเพื่อชิงถ้วยรางวัลในรอบสุดท้าย แต่ทั้งสองก็ไม่สามารถเป็นคนแรกของกีฬาแล่นเรือยอช์ทที่สามารถชนะ 'ทริปเปิลคราวน์’ – เหรียญทองโอลิมปิก America’s Cup และ the Volvo Ocean Race อย่างไรก็ตาม ทั้งคู่กล่าวว่าประสบการณ์การแข่งเรือรอบโลกครั้งแรกของพวกเขาทำให้พวกเขารู้สึกหิวกระหายการแข่งเรือมากขึ้น – ซึ่งอาจอยู่ในรูปแบบของการแข่งขัน Volvo Ocean Race ของตนเอง ณ ที่ใดที่หนึ่ง หลังจากการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกครั้งต่อไป และการแข่งขัน America's Cup ครั้งที่ 36

ทู้ค (Tuke) – ซึ่งเข้าแข่งขันในฐานะนายท้ายเรือ และผู้คุมใบเรือบน Mapfre กล่าวว่าการแข่งเรือรอบโลกเป็นประสบการณ์ที่เหลือเชื่อ ซึ่งเขาเชื่อว่าจะช่วยให้ตนเป็นกะลาสีเรือที่เก่งกาจรอบด้าน “เราพยายามฉวยโอกาสเสมอในทุกครั้งที่มีโอกาสเข้ามา และสำหรับเราแล้ว โอกาสมาพร้อมกับทีมลูกเรือที่แตกต่างกัน” ทู้ค (Tuke) กล่าว “ผมคิดว่าเราได้เรียนรู้สิ่งต่างๆ มากมายจากทั้งสองทีมของเรา และสามารถนำสิ่งนั้นกลับมาใช้ในการแข่งเรือได้ เมื่อเรากลับมาร่วมทีมกันอีกครั้งในอนาคต” ซึ่งสำหรับเขาแล้ว เบอร์ลิง ยังกล่าวอีกว่า การแข่งขันได้เป็นไปตามความคาดหวังทุกประการที่เขาคิดไว้ก่อนที่จะเริ่มต้นการแข่งขัน

“เราเห็นสภาพอากาศที่โหดร้ายและทารุณอย่างน่าเหลือเชื่อในมหาสมุทรแอนตาร์กติก และการข้ามเส้นศูนย์สูตรก็เป็นเรื่องที่ยากอย่างยิ่งเมื่อเจอกับช่วงเวลาที่เราได้ประสบกับอุณหภูมิของน้ำที่สูงขึ้นกว่า 35C/95F

“การแข่งขันนี้ทำให้โลกทั้งใบดูเล็กไปเลย คุณลองคิดดูสิว่า พวกเขาแข่งขันกันโดยใช้เรือยาว 65 ฟุตที่มีความเร็วไม่มากนักเมื่อเทียบกับยานพาหนะประเภทอื่นๆ แต่ถึงกระนั้น เรือลำนี้ก็พาคุณเดินทางไปได้ครึ่งโลกภายในระยะเวลาเพียง 20 วัน”